ขอเชิญชมวีดีทัศน์โครงการวิจัยและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย
มหาวิทยาลัยราชภัฏเลยเป็นสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพทางวิชาการในหลายสาขาวิชา และมีภารกิจในการบริการวิชาการให้กับชุมชนในพื้นที่บริการ การให้บริการด้านการพัฒนาศักยภาพให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การจัดการที่มีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลยมีกองทุนสนับสนุนการวิจัยให้กับบุคลากรโดยนักวิจัยสามารถยื่นขอรับทุนสนับสนุนได้ตลอดทั้งปี โดยมีกรอบการวิจัยที่ครอบคลุมการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในหลายๆ ด้าน อาทิ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เทคโนโลยีพื้นบ้าน อาหารพื้นบ้าน การจัดการการท่องเที่ยวชุมชน วัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น ในด้านกระบวนการพัฒนานักวิจัย มหาวิทยาลัยมีโครงการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องโดยใช้ระบบพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นนักวิจัยที่มีประสบการณ์ด้านการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดำเนินการพัฒนาในหลายระดับตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้แก่ การพัฒนาโจทย์วิจัย การพัฒนาข้อเสนอโครงการ การสร้างเครื่องมือวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล การเขียนรายงานการวิจัย การเขียนบทความวิจัยเพื่อการตีพิมพ์ ตลอดจนเทคนิคการนำเสนองานวิจัย และโครงการพัฒนากลุ่มวิจัย โดยเริ่มจากกลุ่มนักวิจัยที่เข้มแข็ง มีประสบการณ์การวิจัยอย่างต่อเนื่องก่อน ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยมีกลุ่มวิจัยหลายกลุ่ม ดังนี้ กลุ่มศิลปวัฒนธรรม กลุ่มการศึกษา กลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพ กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม กลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่มอาหาร กลุ่มท่องเที่ยว เป็นต้น นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยยังมีระบบการกลั่นกรองคุณภาพข้อเสนอโครงการวิจัยโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่ตรงตามศาสตร์ของประเด็นวิจัยจากภายนอก 2 ท่าน และภายใน 1 ท่าน หลังจากนั้น จึงนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกคณะ ได้แก่ คณะครุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาการจัดการ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และสำนักศึกษาทั่วไป ซึ่งจะช่วยกลั่นกรองคุณภาพของงานวิจัยก่อนประกาศทุนวิจัย นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรทุนวิจัยลงสู่ระดับคณะ เพื่อให้แต่ละคณะสามารถสร้างอัตลักษณ์ประเด็นงานวิจัย กำหนดพื้นที่ชุมชนที่มุ่งเน้นให้สามารถดำเนินงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง
จากความพร้อมทางด้านกลไกการขับเคลื่อนการวิจัยและศักยภาพของนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย จึงได้ปฏิบัติพันธกิจที่สนองต่อปรัชญาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อท้องถิ่น “โครงการวิจัยและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน” ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายทางการวิจัยโดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์เป็นหลักในการพัฒนาระบบและกลไกขับเคลื่อนงานพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม (University Engagement) โดยมีวัตถุประสงค์ได้แก่ 1) เพื่อวิจัยและพัฒนา สร้างองค์ความรู้ในการจัดการสุขภาวะชุมชนโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง รวมถึงผลการวิจัยได้รับการยอมรับทางวิชาการ 2) เพื่อพัฒนานวัตกรรมการจัดการตนเองจากกระบวนการวิจัย และผลการวิจัยที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง 3) เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรของชุมชนท้องถิ่นในด้านการทำวิจัยและการนำผลการวิจัยไปใช้ในกระบวนการพัฒนาสุขภาวะชุมชน และ 4) เพื่อพัฒนารูปแบบและแนวทางการทำงานร่วมกันของมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยกับชุมชนท้องถิ่น โดยมีภาคีเครือข่ายร่วมวิจัยในพื้นที่เป้าหมายที่เป็นศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน (ศจค.) จำนวน 3 แห่งและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย ครอบคลุม 13 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา และขอนแก่น ร่วมกับศูนย์สนับสนุนทางวิชาการเพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นภาคอีสาน (ศวภ. อีสาน)
อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการชุดวิจัยนี้มีแผนงาน 4 กลุ่มแผนงานได้แก่ 1) แผนงานการดูแลสุขภาพชุมชนโดยชุมชน 2) แผนงานการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3) แผนงานกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนอยู่ดี กินดี มีสุข อย่างยั่งยืน และ 4) แผนงานกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพคน พื้นที่ วิถีชีวิตและอาชีพของคนในชุมชนภายใต้พื้นที่การปกครองขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 – 2562 ดังนั้นคณะทำงานจึงได้ทำการสรุปสาระสำคัญของผลการดำเนินโครงการฉบับนี้ขึ้น โดยมีประเด็นในการนำเสนอที่สำคัญได้แก่ ระบบการขับเคลื่อนโครงการวิจัย ผลการสังเคราะห์โครงการวิจัยโดยสรุป และปัจจัยความสำเร็จซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานในการนำไปสู่การขับเคลื่อนโครงการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายต่อไป