สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ได้จัดทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การบรูณาการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาการตลาดดิจิทัลเพื่อยกระดับสินค้าและบริการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน”
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ได้จัดทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
การบรูณาการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาการตลาดดิจิทัลเพื่อยกระดับสินค้าและบริการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน”
ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเลย ในวันที่ 17 มกราคม 2565 ระหว่างเวลา 14.00-15.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 9 อาคาร 19 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย
รองศาสตราจารย์สมเจตน์ ดวงพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ได้กล่าวต้อนรับคณะผู้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นางเบญจวรรณ ตัญญู พาณิชย์จังหวัดเลย คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณี พฤกษา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ ดร.สัญชัย เกียรติทรงชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา และผู้ช่วยศาสตราจารย์เหมวดี กายใหญ่ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยได้กล่าวเน้นย้ำถึงปรัชญาของมหาวิทยาลัยในการเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น รวมทั้งการบูรณาการงานวิจัยมาสู่การพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้ชุมชนได้เกิดรายได้และมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการวิจัย “การพัฒนาตลาดดิจิทัลเพื่อยกระดับสินค้าและบริการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเลย โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติประจำปีงบประมาณ 2564 เริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2564 สิ้นสุดโครงการวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ระยะเวลา 11 เดือน โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี
โกกะนุช เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยจำนวน 26 คน สังกัดคณะวิทยาการจัดการ และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนักวิจัยซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเมี่ยง อำเภอท่าลี่ 1 คน
โครงการวิจัยดังกล่าว มีวัตถุประสงค์หลักคือ 1) เพื่อพัฒนาช่องทางตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
(E-Marketplace platform) ช่องทาง Line Official Account (Line OA) และการจับคู่ธุรกิจ (Business matching) ให้กับวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดเลย โดยบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเลย และ 2) เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ “แก้ว-น้ำ-สี-ชา” ได้แก่ ผลผลิตจากแก้วมังกร อ.ภูเรือ ผลผลิตจากกัญชา อ.ท่าลี่ ผลผลิตจากน้ำยางพาราดิบ อ.เชียงคาน ผลผลิตสีจากต้นใบดีหมี อ.เชียงคาน และนวัตกรรมผงสีย้อมผ้าธรรมชาติ อ.ภูหลวง โดยมุ่งส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนให้มีความตระหนักถึงกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน
สำหรับแผนการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเลยมี 3 ระยะได้แก่ ระยะที่ 1) การพัฒนาเว็บไซต์ www.phanichshoploei.com ร่วมกับนักวิจัยจากสาขาวิชานิเทศศาสตร์ดิจิทัลและสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย และการจัดอบรมให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและธุรกิจชุมชนช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2564 – พฤษภาคม 2565 ระยะที่ 2) การพัฒนาและจัดอบรมช่องทาง Line OA ระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2565 และ ระยะที่ 3) ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายคือ การเจรจาจับคู่ธุรกิจ ระหว่างเดือน มิถุนายน – กรกฎาคม 2565 ผลการวิจัยดังกล่าวเป็นการพัฒนาโอกาสโดยเฉพาะแพลตฟอร์มตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์และช่องทางการตลาดดิจิทัลให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและธุรกิจชุมชนในจังหวัดเลย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านวิถีชีวิตปกติต่อไป (Next normal) และการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของชุมชนต่อไป